โตโยต้าสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและผลิตไฮโดรเจนได้ด้วย

บริษัทโตโยต้ากำลังสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตไฮโดรเจนได้วันละ 1.2 ตันซึ่งเพียงพอสำหรับเป็นเชื้อเพลิงของรถยนต์ 1,500 คัน เรียกได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงคาร์บอเนตระดับเมกะวัตต์แห่งแรกของโลก และโรงไฟฟ้า Tri-Gen แห่งนี้ยังใช้พลังงานหมุนเวียนอีกด้วย

โรงไฟฟ้า Tri-Gen ตั้งอยู่ที่เมือง Long Beach รัฐแคลิฟอร์เนีย มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2020 ผลิตไฟฟ้าได้ 2.35 เมกะวัตต์ ใช้พลังงาน 100 % จากขยะจากการเกษตรของแคลิฟอร์เนีย Tri-Gen จะเปลี่ยนขยะให้เป็นไฮโดรเจน ไฟฟ้า และน้ำ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยบริษัท FuelCell Energy

สำหรับโตโยต้าแล้วโรงไฟฟ้า Tri-Gen ถือเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจไฮโดรเจน ไฮโดรเจนที่ผลิตได้จาก Tri-Gen จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงของรถพลังงานไฮโดรเจนที่วิ่งอยู่ในท่าเรือ Long Beach Port ทั้งรถรุ่น Mirai และรถบรรทุกหนักของโตโยต้าที่เรียกว่า Project Portal

toyota-tri-Gen-2

“มากกว่า 20 ปีที่โตโยต้าเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง เพราะว่าเราเข้าใจถึงศักยภาพอันล้นเหลือที่จะช่วยลดการปล่อยมลพิษและปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น” Doug Murtha รองประธานฝ่ายแผนกลยุทธ์กล่าว “Tri-Gen เป็นก้าวสำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวแบบยั่งยืนและเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จในโครงการ 2050 Environmental Challenge ที่มีเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์จากการปฏิบัติงานของเรา”

โครงการ 2050 Environmental Challenge ของโตโยต้ามีเป้าหมายหลายอย่างประกอบด้วยการผลิตรถที่ไม่ปล่อยคาร์บอน ลดการปล่อยคาร์บอนที่โรงงานตลอดจนขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบ รวมไปถึงขั้นตอนการรีไซเคิล และยังมีเป้าหมายเรื่องการลดการใช้น้ำและการปลูกต้นไม้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่โรงงานอีกด้วย

เพื่อสนับสนุนการใช้ไฮโดรเจน โตโยต้าได้สร้างสถานีจ่ายไฮโดรเจนที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นด้วย นอกเหนือจากสถานีที่มีอยู่แล้ว 31 แห่งในแคลิฟอร์เนีย และยังจะร่วมมือกับอีกหลายบริษัทในการพัฒนาสถานีจ่ายไฮโดรเจน รวมทั้งการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทเชลล์ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของการร่วมมือกันของผู้ผลิตรถยนต์กับบริษัทน้ำมัน

 

ข้อมูลและภาพจาก toyota, inhabitat

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *