นาซาค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่ 8 ของระบบดาวที่คล้ายระบบสุริยะอย่างมาก

นาซาประกาศเมื่อ 14 ธันวาคม 2017 ว่าได้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่ 8 ของระบบดาว Kepler-90 โดยความช่วยเหลือจาก AI หรือปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิล ทำให้ Kepler-90 มีจำนวนดาวเคราะห์เท่ากับระบบสุริยะของเรา (ซึ่งมากที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ) และยังน่าสนใจที่ระบบดาวเคราะห์ Kepler-90 มีลักษณะหลายอย่างคล้ายกับระบบดาวเคราะห์ของเราอย่างมาก

ระบบดาวเคราะห์ Kepler-90 ถูกประกาศการค้นพบเมื่อปี 2013 ตั้งอยู่ที่กลุ่มดาว Draco ห่างจากโลก 2,545 ปีแสง ประกอบด้วยดาวเคราะห์ 7 ดวงเรียกชื่อว่า Kepler-90b, c, d, e, f, g, และ h ดาวเคราะห์ดวงที่ 8 ที่เพิ่งค้นพบโคจรอยู่ระหว่างดาวเคราะห์ Kepler-90c และ Kepler-90d เรียกว่า Kepler-90i เป็นดาวเคราะห์หินร้อนจัดอุณหภูมิที่ผิวเกิน 425 ℃ (พอๆกับดาวพุธ) โคจรรอบดาวแม่ทุก 14.4 วัน

การค้นพบเกิดขึ้นหลังจากที่ Christopher Shallue วิศวกรด้าน AI ของกูเกิล และ Andrew Vanderburg นักดาราศาสตร์จากนาซาได้สอนให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้วิธีแยกแยะดาวเคราะห์จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงความสว่างเพียงน้อยนิดตอนที่ดาวเคราะห์ผ่านเข้าข้างหน้าหรือพ้นจากดาวฤกษ์ที่บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Kepler ซึ่งถูกส่งขึ้นไปเก็บข้อมูลไว้จำนวนมหาศาลตั้งแต่ปี 2009 โครงข่ายประสาทของ AI ทำการตรวจค้นอย่างละเอียดและพบสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่อ่อนมากนำไปสู่การค้นพบ Kepler-90i

“เป็นไปอย่างที่เราคาดไว้ จะมีการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมากมายซ่อนอยู่ในข้อมูลของ Kepler รอเพียงเครื่องมือที่เหมาะสมหรือเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาเปิดเผยมัน” Paul Hertz ผู้อำนวยการแผนกดาราศาสตร์ฟิสิกส์ของนาซากล่าว “การค้นพบครั้งนี้แสดงว่าข้อมูลของเราจะเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ในหลายปีข้างหน้า”

ระบบดาวเคราะห์ Kepler-90 มีลักษณะคล้ายกับระบบดาวเคราะห์ของเรามากทีเดียว อย่างแรกคือมีดาวเคราะห์ 8 ดวงเหมือนกัน อีกอย่างคือดาวเคราะห์รอบในมีขนาดเล็ก รอบนอกมีขนาดใหญ่ เพียงแต่ดาวเคราะห์ Kepler-90 จะโคจรอยู่ใกล้กับดาวแม่มากกว่า คาบวงโคจรของดาวเคราะห์ Kepler-90 ทั้ง 8 ดวงคือ 7, 9, 14, 60, 92, 125, 211, และ 331 วันตามลำดับ จะเห็นว่าดาวเคราะห์ Kepler-90h ที่โคจรอยู่นอกสุดมีคาบการโคจรใกล้เคียงกับโลกเท่านั้น ขณะที่ดาวเนปจูนที่โคจรอยู่นอกสุดในระบบของเรามีคาบวงโคจร 60,182 วัน หรือ 164.8 ปี

kepler-90i-2

“ระบบดาว Kepler-90 คล้ายกับระบบสุริยะขนาดเล็ก มีดาวเคราะห์ขนาดเล็กอยู่ด้านในและขนาดใหญ่อยู่ด้านนอก แต่ทุกอย่างจะกระจุกตัวอยู่ใกล้ๆกัน” Vanderburg กล่าว

ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Kepler มีสัญญาณของระบบดาวเคราะห์ที่เป็นไปได้มากถึง 35,000 กลุ่ม การตรวจสอบแบบอัตโนมัติและบางครั้งก็เป็นสายตามนุษย์ถูกใช้ในการพิสูจน์สัญญาณที่มีความหวังมากที่สุด แต่อย่างไรก็ดีพวกสัญญาณที่อ่อนมากจะหลุดลอดไปเมื่อใช้วิธีการเหล่านี้ Shallue และ Vanderburg คิดว่ายังมีการค้นพบดาวเคราะห์นอกโลกที่น่าสนใจอีกมากซุกซ่อนอย่างเลือนรางอยู่ในข้อมูลเหล่านั้น

 

ข้อมูลและภาพจาก nasa, phys.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *