เตรียมชม ‘ซูเปอร์มูนสีเลือด’ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 150 ปี

ในคืนวันที่ 31 มกราคม 2018 ที่กำลังมาถึงนี้จะเกิดปรากฏการณ์พิเศษบนท้องฟ้าที่หาดูได้ยากยิ่ง เป็นปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ 3 อย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน คือ ซูเปอร์มูน (Supermoon) บลูมูน (Blue Moon) และ บลัดมูน (Blood Moon) เป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 150 ปี ที่สำคัญคนไทยสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนเต็มที่อีกด้วย

ซูเปอร์มูนคือพระจันทร์เต็มดวงที่เกิดขณะที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ใกล้โลกมากที่สุดทำให้เห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ซึ่งเราได้มีโอกาสได้เห็นซูเปอร์มูนที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปีกันไปแล้วเมื่อปลายปี 2016

บลูมูนคือพระจันทร์เต็มดวงที่เกิดเป็นครั้งที่สองในเดือนเดียวกัน ไม่ได้หมายถึงมองเห็นพระจันทร์เป็นสีน้ำเงินแต่เป็นชื่อที่ใช้เรียกมานานกว่า 500 ปีแล้ว ปรากฏการณ์ก็เกิดขึ้นไม่บ่อยนักเพราะระยะห่างของพระจันทร์เต็มดวงประมาณ 29.5 วัน โอกาสที่จะมี 2 ครั้งในเดือนเดียวกันค่อนข้างน้อย โดยเฉลี่ยจะเกิดขึ้นทุก 2 ปีครึ่ง

บลัดมูนหรือพระจันทร์สีเลือดคือจันทรุปราคาเต็มดวงแบบที่มองเห็นดวงจันทร์ที่อยู่ในเงามืดของโลกเป็นสีแดงเข้ม จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ค่อนข้างบ่อย ปีละอย่างน้อย 2 ครั้งบางปีอาจมากถึง 4 – 5 ครั้ง เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันพอดีหรือใกล้เคียงมาก จันทรุปราคามีทั้งแบบเต็มดวงและบางส่วน สีของดวงจันทร์เมื่อเกิดจันทรุปราคาแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน มีทั้งมืดแทบมองไม่เห็น สีเทา สีน้ำตาล สีแดงเข้ม สีอิฐ และสีส้ม หากเห็นเป็นสีแดงเข้มเราเรียกว่าพระจันทร์สีเลือดหรือบลัดมูน

super-blue-blood-moon-2

ตอนที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงโลกบังดวงจันทร์แบบสนิท เงามืดของโลกทับดวงจันทร์ทั้งดวงอยู่เป็นเวลานานนับชั่วโมง ดูเหมือนคนบนโลกน่าจะมองไม่เห็นดวงจันทร์เลยเพราะไม่มีแสงจากดวงอาทิตย์ แต่ที่จริงแล้วเมื่อแสงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศของโลกจะเกิดการกระเจิงของแสงแบบเดียวกันที่เราเห็นท้องฟ้ายามเช้าและยามเย็นเป็นสีส้มแดง แสงบางส่วนสามารถไปถึงดวงจันทร์ บ่อยครั้งเราจึงเห็นดวงจันทร์ตอนเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงเป็นสีออกแดง-ส้ม

super-blue-blood-moon-3

ปรากฏการณ์ที่จะเกิดทั้งซูเปอร์มูน บลูมูน และบลัดมูนทั้งสามอย่างพร้อมกันมีขึ้นได้ยากมาก เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Super Blue Blood Moon เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในปี 1866 หรือราว 152 ปีมาแล้ว และกว่าจะเกิดปรากฏการณ์พิเศษนี้อีกครั้งก็ต้องรอกันอีกนานมาก

โชคดีมากที่ประเทศไทยสามารถมองเห็น ‘ซูเปอร์มูนสีเลือด’ ครั้งนี้ได้ชัดเจนทุกภูมิภาค วันที่ 31 มกราคม 2018 ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 17.51 น. จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18.48 น. เข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 19.51 – 21.07 น. ระยะเวลาจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 16 นาที

เตรียมวางแผนกันให้ดีว่าจะไปชมซูเปอร์มูนสีเลือดกันที่ไหน เตรียมกล้องถ่ายรูปและคนที่อยากให้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ให้พร้อม เพราะมันอาจเป็นประสบการณ์ที่มีเพียงครั้งเดียวในชีวิตของคุณ

super-blue-blood-moon-4

 

ข้อมูลและภาพจาก space, sciencealert

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *