ขณะเกิดโรคระบาดมันถูกเรียกในภาษานาวาตล์ (Nahuatl) ว่า “cocoliztli” ที่หมายถึงโรคระบาด มันได้คร่าชีวิตผู้คนในเม็กซิโกและกัวเตมาลาไปเกือบหมด ทำให้ประชากรลดลงอย่างฮวบฮาบ
“เป็นโรคที่ติดต่อง่าย แพร่เชื้อเร็ว คนที่เป็นโรคมีฉี่สีเขียวและดำ ลิ้นแห้งและเป็นสีดำ กระหายน้ำอย่างแรง ส่วนใหญ่ตาย” นี่คือคำอธิบายอาการจากนักบวชฟรานซิสชื่อ Fray Juan de Torquemada ผู้อยู่ในเหตุการณ์ตอนเกิดโรคระบาดครั้งที่สองในปี 1576
Kirsten Bos มานุษยวิทยากายภาพจากสถาบันแมกซ์พลังก์ในเยอรมันและทีมงานได้ทำการเปรียบเทียบ DNA ที่ได้จากฟันของซากศพกับฐานข้อมูล DNA ของแบคทีเรียยุคปัจจุบันที่ได้หาลำดับพันธุกรรมไว้แล้ว มีแต่เชื้อแบคทีเรีย Salmonella เท่านั้นที่มี DNA สอดคล้องกัน
เพื่อยืนยันว่าเป็น Salmonella จริงทีมงานจึงสร้างจีโนมขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่เป็นงานที่ค่อนข้างยากเพราะโมเลกุล DNA เสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา
“มันเหมือนกับกระจกที่แตกเป็นเสี่ยงๆ คุณต้องพยายามนำมันมารวมกันด้วยวิธีใดก็ตาม” Bos กล่าว ทีมวิจัยใช้จีโนมของ salmonella ยุคปัจจุบันนำทางไปสู่การหาชิ้นส่วนจีโนมโบราณแต่ละชิ้นแล้วนำมารวมกันเหมือนกับเล่นเกมจิ๊กซอว์
สายพันธ์ุ Salmonella ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ยุคโบราณมีลำดับพันธุกรรมคล้ายกับแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษของทุกวันนี้ แบคทีเรียที่ Bos และทีมงานพบเป็นชนิดหนึ่งของเชื้อแบคทีเรีย Salmonella enterica ที่เรียกว่า Paratyphi C ซึ่งสามารถทำให้เป็นไข้ไทฟอยด์ และจากตำแหน่งที่พบ DNA แสดงว่ามันได้เข้าไปในกระแสเลือดของผู้เคราะห์ร้ายแล้ว นักวิจัยคิดว่าเชื้อน่าจะแพร่มาจากชาวสเปน ขณะที่ระบบภูมิคุ้มกันของชนพื้นเมืองต้านไม่ไหว
ข้อมูลและภาพจาก newsweek, sciencealert