หากย้อนกลับไปดูเมื่อ 5 ปีที่แล้วจะพบว่าในปี 2012 ยุโรปผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินมากถึง 890 เทราวัตต์-ชั่วโมง ส่วนการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมีเพียง 432 เทราวัตต์-ชั่วโมง หรือราวครึ่งหนึ่งของถ่านหินเท่านั้น
เยอรมันและสหราชอาณาจักรมีการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา รวมกันมากถึง 56% ของทั้งหมด โดยพลังงานลมเติบโตมากเป็นพิเศษถึง 19% ในปี 2017 เนื่องจากการลงทุนจำนวนมหาศาลในฟาร์มกังหันลมและการที่มีลมพัดจัดในปีที่แล้ว
ปีที่ผ่านมายุโรปมีการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดเพิ่มขึ้น 0.7% และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 3 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของจีดีพีและจำนวนประชากร ที่น่าประหลาดใจคือสหราชอาณาจักรกลับใช้ไฟฟ้าลดลงทั้งที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงเติบโตได้ดี
ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงสร้างปัญหาให้กับระบบเครือข่ายไฟฟ้าของสหราชอาณาจักรไม่น้อย เพราะมันค่อนข้างยากในการบริหารจัดการว่าโรงไฟฟ้าไหนควรเดินเครื่องหรือหยุดเดินเครื่อง
เมื่อพิจารณารายประเทศพบว่าประเทศทางฝั่งยุโรปตะวันตกกำลังลดการใช้ถ่านหินลง แต่ประเทศยุโรปตะวันออกยังคงใช้ถ่านหินอย่างเหนียวแน่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และโปรตุเกส เป็นห้าประเทศที่ประกาศค่อยๆลดและเลิกใช้ถ่านหินไปแล้ว ส่วนเยอรมันซึ่งเป็นผู้บริโภคถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในยุโรปกำลังพิจารณาอยู่และจะตัดสินใจในปี 2019
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำและพลังงานนิวเคลียร์ลดลง ประกอบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในปี 2017 การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จึงคาดว่าการปล่อยคาร์บอนจากภาคการผลิตไฟฟ้าน่าจะไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 1019 ล้านตันเท่าเดิม แต่การปล่อยคาร์บอนจากภาคการค้าและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก 1750 ล้านตัน เป็น 1755 ล้านตัน ดังนั้นโดยรวมจึงคาดว่ายุโรปมีการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นราว 1% ในปี 2017
ข้อมูลและภาพจาก sandbag.org.uk, newscientist