ในรายงานการศึกษาเรื่องต้นไม้นอนหลับ นักวิจัยตั้งเครื่องเลเซอร์สำหรับวัดการเคลื่อนไหวของต้นเบิร์ชสีเงิน 2 ต้นในเวลากลางคืน ต้นหนึ่งอยู่ในฟินแลนด์และอีกต้นหนึ่งอยู่ในออสเตรีย และทั้งสองได้รับการเฝ้าสังเกตตั้งแต่ตอนเย็นจนถึงเช้าในคืนที่แห้งและไม่มีลมของเดือนกันยายน
เครื่องสแกนเลเซอร์ใช้แสงอินฟราเรดส่องไปยังส่วนต่างๆของต้นไม้ในแต่ละเสี้ยววินาที ซึ่งมันจะให้รายละเอียดมากพอที่จะทำภาพร่างของต้นไม้ภายในไม่กี่นาที
กิ่งและใบของต้นเบิร์ชย้อยลงในเวลากลางคืน พวกมันจะลงมาถึงจุดต่ำสุดสองสามชั่วโมงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและจากนั้นจะยกขึ้นไปอีกครั้งในช่วงก่อนรุ่งเช้าเล็กน้อย
“ผลการตรวจสอบแสดงให้เห็นว่าต้นไม้ทั้งต้นย้อยลงมาในช่วงเวลากลางคืนซึ่งสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของใบและกิ่งก้าน” Eetu Puttonen นักวิจัยที่สถาบันวิจัย Finnish Geospatial Research Institute กล่าว “การเปลี่ยนแปลงมีขนาดไม่มากนักเพียงไม่เกิน 10 เซนติเมตร สำหรับต้นไม้ที่มีความสูงประมาณ 5 เมตร”
มันไม่ชัดเจนว่าดวงอาทิตย์ “ปลุก” ต้นไม้หรือพวกมันจะมีจังหวะรอบการตื่นขึ้นมาเอง “แต่เป็นความจริงที่บางกิ่งเริ่มต้นยกกลับไปยังตำแหน่งของเวลากลางวันเสร็จเรียบร้อยก่อนพระอาทิตย์ขึ้น”
นักวิจัยกล่าวว่าการค้นพบนี้ไม่น่าประหลาดใจเท่าไร แต่มันแปลกที่ไม่มีการศึกษาเรื่องนี้มาก่อนจนถึงขณะนี้ สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่มีจังหวะรอบทั้งกลางวันและกลางคืน จะสังเกตได้ว่าพืชบางชนิดดอกจะบานในตอนเช้าและต้นไม้บางต้นจะหุบใบในตอนกลางคืน
นักพฤกษศาสตร์ชื่อดัง Carl Linnaeus (1707-1778) พบว่าดอกไม้ที่อยู่ในห้องใต้ดินมืดยังคงบานและหุบ และนักธรรมชาติวิทยา ชาลส์ ดาร์วิน (1809-1882) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการเคลื่อนไหวในเวลากลางคืนของใบและก้านดูเหมือนการนอนหลับ
อย่างไรก็ตามการศึกษาของพวกเขาจดจ่ออยู่กับต้นไม้ขนาดเล็กที่ปลูกในกระถาง การค้นพบครั้งนี้เป็นการวิจัยครั้งแรกที่ใช้เลเซอร์ในการวัดการเคลื่อนไหวในช่วงกลางคืนอย่างแม่นยำของต้นไม้ป่า
การศึกษาต้นไม้ครั้งนี้ไม่ได้ระบุว่าทำไมกิ่งและใบย้อยลงเวลากลางคืน แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับ ความบวมหรือแรงดันน้ำภายในต้นไม้
ตามปกติการเคลื่อนไหวของพืชจะเกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดกับความสมดุลของน้ำของแต่ละเซลล์ซึ่งเป็นผลมาจากแสงผ่านทางการสังเคราะห์แสง
นักวิจัยกล่าวว่าในอนาคตพวกเขาวางแผนที่จะตรวจสอบการเคลื่อนที่ของน้ำในต้นไม้และเปรียบเทียบกับการตรวจวัดโดยเครื่องสแกนเลเซอร์ “นี่จะทำให้เรามีความเข้าใจการใช้น้ำของต้นไม้ในแต่ละวันและอิทธิพลของมันที่มีต่อสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น”