ในปี 1925 นักโบราณคดี Howard Carter พบกริช 2 เล่ม (เล่มหนึ่งเป็นเหล็กและอีกเล่มหนึ่งเป็นทองคำ) ภายในผ้าห่อศพของกษัตริย์ตุตันคาเมนที่ถูกทำเป็นมัมมี่เมื่อกว่า 3,300 ปีมาแล้ว กริชเล่มที่ใบเป็นเหล็กได้สร้างความพิศวงงงงวยให้แก่นักวิจัยมานานหลายทศวรรษตั้งแต่มีการค้นพบ เนื่องจากเป็นวัตถุที่ทำด้วยเหล็กซึ่งเป็นของหายากในอียิปต์สมัยโบราณ และใบกริชไม่เป็นสนิม
นักวิจัยชาวอิตาลีและอียิปต์ได้ทำการวิเคราะห์โดยวิธีเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ (x-ray fluorescence spectrometer) เพื่อตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีของมันและพบว่ามันมีปริมาณนิกเกิลสูงถึง 10.8 เปอร์เซ็นต์ และมีปริมาณโคบอลต์ 0.6 เปอร์เซ็นต์ องค์ประกอบดังกล่าวแตกต่างจากเหล็กที่มีอยู่ในโลกอย่างมาก มันต้องมีแหล่งกำเนิดมาจากนอกโลกแน่ๆ พวกเขาเปรียบเทียบกับองค์ประกอบของอุกกาบาตที่พบภายในรัศมี 2,000 กิโลเมตรรอบชายฝั่งทะเลแดงของอียิปต์และพบว่ามันคล้ายกับอุกกาบาตก้อนหนึ่ง
อุกกาบาตดังกล่าวมีชื่อว่า Kharga ถูกพบห่างจากเมืองอเล็กซานเดรียไปทางตะวันตก 150 ไมล์ (240km) ที่เมืองท่า Mersa Matruh ซึ่งในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (356-323 ปีก่อนคริสตกาล) คือเมือง Amunia
นักวิจัยยืนอยู่บนสมมติฐานที่ว่าชาวอียิปต์โบราณให้ความสำคัญกับหินที่ตกมาจากฟากฟ้า นักอียิปต์วิทยา Joyce Tyldesley จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ได้อธิบายในทำนองเดียวกันว่าชาวอียิปต์โบราณจะเคารพนับถือวัตถุบนท้องฟ้าที่ตกลงมาสู่พื้นดิน
“ท้องฟ้าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับชาวอียิปต์โบราณ” เธอบอก “อะไรที่ตกมาจากท้องฟ้าจะถูกคิดว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้า”
ด้วยคุณภาพที่ดีเยี่ยมของใบกริชแสดงให้เห็นว่าตุตันคาเมนซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปลายของยุคสำริดมีช่างทำเหล็กที่มีทักษะสูงแม้มันจะเป็นวัสดุที่หายากก็ตาม ใบกริชอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวที่คนของตุตันคาเมนทำมาจากอุกกาบาต
ในปี 2006 นักเคมีดาราศาสตร์ชาวออสเตรียได้เสนอว่าอัญมณีสีเหลืองรูปแมลงปีกแข็งในสร้อยคอของพระศพกษัตริย์ตุตันคาเมนที่จริงแล้วเป็นแก้วที่เกิดจากความร้อนของอุกกาบาตที่พุ่งชนเข้ามาในทราย