ทอมัส เอดิสัน พ่อมดนักประดิษฐ์ผู้เปลี่ยนโลกด้วยสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีกว่า 1,000 ชิ้น

โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) เป็นนักประดิษฐ์คนสำคัญของโลก ผลงานของเขาได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้เป็นสังคมสมัยใหม่ ส่วนใหญ่ผู้คนมักจะรู้จักเอดิสันในฐานะผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ แต่ที่จริงแล้วผลงานการประดิษฐ์ของเขามีมากมายเหลือเชื่อ เช่น เครื่องบันทึกเสียง กล้องถ่ายภาพยนตร์ เครื่องเล่นจานเสียง แบตเตอรี่ และเครื่องมือเครื่องใช้เทคโนโลยีอื่นอีกเป็นพันชิ้น เอดิสันเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์มากถึง 1,093 ชิ้น นอกจากนี้เขายังเป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ เอดิสันเป็นเจ้าของบริษัทที่มีชื่อเขาเป็นชื่อบริษัทถึง 13 บริษัท รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric Company) หรือ GE บริษัทมหาชนด้านไฟฟ้าขนาดใหญ่ของโลก เอดิสันเป็นตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จด้วยความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร และได้รับการยกย่องให้เป็นสุดยอดนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก

 
เด็กขายของบนรถไฟผู้รักการทดลอง

thomas-edison-2

เอดิสัน เป็นชาวอเมริกา เกิดเมื่อปี 1847 ที่เมืองมิลาน รัฐโอไฮโอ ตอนเด็กเขาเป็นโรคผื่นแดงและติดเชื้อในหูทำให้มีปัญหาการได้ยินทั้งสองข้างจนเกือบเป็นคนหูหนวก พอมีอายุได้ 7 ปีครอบครัวของเอดิสันที่ธุรกิจซบเซาได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองพอร์ตฮูรอน รัฐมิชิแกน เขามีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียนเพียง 3 เดือน เนื่องจากเขาไม่สนใจเนื้อหาในตำราเรียน แต่ไปสนใจในสิ่งต่างๆรอบตัวที่ไม่มีในตำรา เขาจึงเป็นเด็กมีปัญหาในสายตาของคุณครู แม่ของเขาจึงให้ออกจากโรงเรียนและเธอเป็นผู้สอนหนังสือเขาเอง เอดิสันศึกษาด้วยตัวเองด้วยการอ่านหนังสือ เขาสนใจด้านวิทยาศาสตร์และชอบการทดลองเป็นพิเศษ พ่อแม่สนับสนุนเขาโดยสร้างห้องใต้ดินเพื่อให้เอดิสันได้ทำการทดลองต่างๆในหนังสือ และเขาก็ได้ทำการทดลองมากมายในห้องใต้ดินนั้น

ตอนมีอายุ 12 ปีเอดิสันได้งานทำเป็นเด็กขายของบนรถไฟที่วิ่งระหว่างเมืองพอร์ตฮูรอนและเมืองดีทรอยต์ เขาขายหนังสือพิมพ์ ลูกกวาดและผัก เอดิสันได้ใช้ตู้รถไฟตู้หนึ่งเป็นที่พัก เก็บสารเคมี และหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เขามักใช้เวลาว่างส่วนใหญ่อยู่ในห้องพักเพื่ออ่านหนังสือ และทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเอดิสันทำงานเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง เขานำเงินไปซื้อแท่นพิมพ์เล็กๆเครื่องหนึ่ง และผลิตหนังสือพิมพ์ที่มีเขาเป็นเจ้าของบรรณาธิการ นักเขียน และพนักงานขาย ชื่อว่า Grand Trank Herald ซึ่งขายดีทีเดียว เอดิสันนำเงินกำไรที่ได้ไปซื้ออุปกรณ์ในการทดลองวิทยาศาสตร์ สารเคมี และหนังสือวิทยาศาสตร์ แต่วันหนึ่งเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ขณะที่เขากำลังทำการทดลองรถไฟเกิดกระชากอย่างแรงทำให้แท่งฟอสฟอรัสตกกระแทกพื้น แล้วเกิดระเบิดอย่างแรง ทำให้ไฟไหม้ตู้รถไฟของเขา ถึงจะเกิดความเสียหายไม่มากนักแต่เขาถูกคนคุมขบวนรถไฟตบเข้าที่หูจนหูแทบพิการ พร้อมกับถูกไล่ออกจากงาน

 
มุ่งสู่เส้นทางของนักประดิษฐ์

thomas-edison-3

ชะตาชีวิตลิขิตทางเดินของคน วันหนึ่งเอดิสันได้ช่วยชีวิตเด็ก 3 ขวบจากการถูกรถไฟทับ เผอิญเด็กคนนั้นเป็นลูกชายของนายสถานีรถไฟ เขาได้ตอบแทนเอดิสันด้วยการสอนวิธีการส่งโทรเลขจนชำนาญ ทำให้เขาได้งานเป็นคนส่งโทรเลขอยู่นานหลายปี พอมีเวลาว่างเอดิสันก็จะศึกษาและทดลองทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีโทรเลข จนเขามีความรู้ทางวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นอย่างดี

ปี 1866 ขณะอายุ 19 ปี เอดิสันย้ายไปอยู่ที่เมืองลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี ทำงานเป็นพนักงานของบริษัท Western Union อยู่ในสำนักข่าว เขาเลือกทำงานกะกลางคืนเพื่อให้มีเวลาเต็มที่สำหรับการศึกษาและการทดลองที่เขาชอบ และมันก็สร้างปัญหาให้กับเขาอีกครั้งจนได้ คืนหนึ่งในปี 1867 เขาทดลองเกี่ยวกับแบตเตอรี่ แล้วทำน้ำกรดหกใส่พื้น มันไหลลงไปที่โต๊ะเจ้านายข้างล่าง วันรุ่งขึ้นเขาถูกไล่ออก เอดิสันจึงต้องพบกับความลำบากไม่มีเงินและไม่มีงานทำ ยังดีที่เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นนักประดิษฐ์ชื่อ Franklin Leonard Pope ให้เขาไปพักและทำงานอยู่ในห้องใต้ดินที่บ้านของเขา ปี 1869 เอดิสันในวัย 22 ปีย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก และประสบความสำเร็จกับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกคือเครื่องพิมพ์ข้อมูลราคาหุ้นซึ่งขายลิขสิทธิ์ได้เงินมากพอสมควร และทำให้เขาตัดสินใจเลิกทำงานอย่างอื่นมุ่งหน้าเป็นนักประดิษฐ์อย่างเต็มตัว

 
พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ค

thomas-edison-4

ปี 1870 เอดิสันสร้างห้องทดลองและโรงงานขนาดเล็กที่เมืองนิวอาร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ มีลูกจ้างและช่างหลายคน และเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาแข่งขันในตลาด และประสบความสำเร็จอย่างมากกับการประดิษฐ์เครื่องส่งโทรเลข 4 ทางซึ่งขายได้เงินถึง 10,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินปัจจุบันราว 216,300 ดอลลาร์ เอดิสันนำเงินไปสร้างโรงงานและศูนย์วิจัยแห่งใหม่ที่เมนโลพาร์ก (Menlo Park) รัฐนิวเจอร์ซีย์ และได้สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่มากมายที่นั่น ทีมงานของเขาจำนวนมากทำงานวิจัยและพัฒนาภายใต้แนวทางและคำสั่งของเขา เอดิสันเคี่่ยวพวกเขาอย่างหนักเพื่อให้ผลิตผลงานออกมา

ปี 1871 อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) สามารถประดิษฐ์โทรศัพท์สำเร็จ ส่งผลให้บริษัทโทรเลขประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรง​ บริษัท Western Union จึงได้ว่าจ้างเอดิสันปรับปรุงโทรศัพท์ของเบลล์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ปี 1876 เอดิสันได้พัฒนาคาร์บอนไมโครโฟนสำเร็จ จึงใช้หลักการของคาร์บอนไมโครโฟนมาปรับปรุงโทรศัพท์จนสำเร็จในปี 1877 ความรู้จากการปรับปรุงโทรศัพท์ทำให้เอดิสันสามารถประดิษฐ์หีบเสียงซึ่งใช้หลักการเดียวกับโทรศัพท์ได้สำเร็จในปีเดียวกัน จากนั้นไม่นานเขาได้ประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงสำเร็จอีก ชื่อเสียงของเอดิสันจึงเริ่มโด่งดังพร้อมกับได้รับฉายาพ่อมดแห่งเมนโลพาร์ค

 
เปลี่ยนโลกด้วยผลงานประดิษฐ์หลอดไฟ

thomas-edison-5

ปี 1878 เอดิสันศึกษาค้นคว้าเพื่อประดิษฐ์หลอดไฟซึ่งเขาหวังจะนำมาแข่งกับตะเกียงแก๊สและตะเกียงน้ำมัน เริ่มจากหาวิธีสร้างหลอดไส้ร้อน (incandescent lamp) ให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น มีนักประดิษฐ์ในยุคนั้นจำนวนมากที่ได้พัฒนาหลอดไฟฟ้าแต่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้เนื่องจากมีอายุใช้งานสั้นมาก มีราคาแพง และกินไฟมาก เอดิสันตระหนักดีว่าเขาต้องสร้างหลอดไฟที่ใช้กระแสไฟฟ้าต่ำและพยายามค้นหาตัวนำที่สามารถทนความร้อนได้สูง เอดิสันทดลองกับวัสดุต่างๆที่จะนำมาใช้เป็นไส้หลอดนับหมื่นชนิด และในปี 1879 เอดิสันก็พบว่าเมื่อนำเส้นใยที่ทำด้วยฝ้ายมาทำเป็นด้ายแล้วนำมาเผาไฟจะได้ถ่านคาร์บอนที่ทนความร้อนได้สูง จากนั้นจึงนำมาบรรจุไว้ในหลอดสูญญากาศ หลอดไฟของเอดิสันสามารถให้แสงสว่างได้นานถึง 40 ชั่วโมง เอดิสันได้จดสิทธิบัตรหลอดไฟไส้คาร์บอนและออกแบบสวิตช์เปิด-ปิดหลอดไฟให้ติดตั้งในบ้านเรือนได้ง่าย นับเป็นจุดเริ่มต้นของหลอดไฟบนโลกใบนี้ ปี 1880 เอดิสันเปลี่ยนไส้หลอดไฟจากคาร์บอนเป็นไม้ไผ่ญี่ปุ่นซึ่งสามารถส่องสว่างได้นานถึง 900 ชั่วโมง

เอดิสันไม่หยุดอยู่แค่เพียงการประดิษฐ์หลอดไฟ ปี 1882 เขาเดินทางกลับมานิวยอร์กอีกครั้งหนึ่งและได้ตั้งบริษัท Edison Electric Light Company เพื่อสร้างโรงจ่ายกระแสไฟฟ้า โดยการนำไดนาโมของไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) มาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากนั้นได้วางสายไฟฟ้าไปทั่วเมืองนิวยอร์ค ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้ากันอย่างทั่วถึง นับว่าเอดิสันเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกิจการไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้เขายังสร้างเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าและสายดินเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าอีกด้วย กิจการของเอดิสันดำเนินไปได้ด้วยดีทั้งการขายหลอดไฟฟ้าและขายกระแสไฟฟ้า เอดิสันได้ปรับปรุงหลอดไฟให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 1883 เขาประดิษฐ์หลอดไฟรุ่นใหม่ที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไปได้ ทำให้หลอดไฟแพร่กระจายไปตามจุดต่างๆของโลกเร็วขึ้น

 
ไม่มีผู้แพ้ในสงครามกระแสไฟฟ้า

thomas-edison-6

ปี 1887 นิโคลา เทสลา นักประดิษฐ์คนสำคัญอีกคนในยุคนั้นได้พัฒนามอเตอร์เหนี่ยวนำที่ทำงานกับไฟฟ้ากระแสสลับสำเร็จ นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกระแสไฟฟ้า (The War of Currents) บริษัท Westinghouse Electric & Manufacturing Company ของจอร์จ เวสติงเฮาส์ วิศวกรและนักธุรกิจชาวอเมริกัน ได้ซื้อลิขสิทธิ์มอเตอร์เหนี่ยวนำและแบบหม้อแปลงไฟฟ้าของเทสลา รวมทั้งจ้างเทสลาไปเป็นที่ปรึกษาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) แข่งกับบริษัท Edison Electric Light Company ของเอดิสันที่ใช้ระบบไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ซึ่งเป็นเจ้าตลาดอยู่ในขณะนั้น การแข่งขันเป็นไปอย่างเข้มข้นมีปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาของฝ่ายเอดิสันพยายามชี้นำผู้ใช้ให้เห็นข้อเสียของไฟฟ้ากระแสสลับ เน้นไปที่ว่ามีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เพื่อให้ผู้คนกลัวไม่กล้าใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ แต่ฝ่ายเวสติงเฮาส์ที่มีเทสลาเป็นผู้ออกแบบระบบมีข้อดีที่เหนือกว่าในเรื่องสามารถส่งไฟฟ้าได้ไกลกว่ามาก ราคาถูกกว่ามาก

ปี 1893 มีเหตุการณ์สำคัญอันเป็นจุดตัดสินของสงครามคือ งานนิทรรศการ World’s Columbian Exposition ที่เมืองชิคาโก งานใหญ่มากเป็นการจัดเพื่อฉลองครบรอบ 400 ปีที่โคลัมบัสพบดินแดนใหม่ (ทวีปอเมริกา) มีผู้ร่วมงานถึง 27 ล้านคน บริษัทของเวสติงเฮาส์ชนะการประมูลระบบไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับงานทั้งหมดโดยใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ ด้วยราคาเพียงครึ่งหนึ่งของฝ่ายเอดิสันที่เสนอด้วยระบบไฟฟ้ากระแสตรง แล้วเวสติงเฮาส์และเทสลาก็ได้แสดงถึงประสิทธิภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่จ่ายไฟให้กับหลอดไฟเกือบหนึ่งแสนดวง จากนั้นระบบไฟฟ้ากระแสสลับจึงเป็นที่นิยมใช้ทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน

ดูเหมือนเอดิสันจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้แต่การณ์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเอดิสันไม่เพียงแต่เป็นนักประดิษฐ์ เขายังเป็นนักธุรกิจที่ชาญฉลาด บริษัท General Electric ที่เอดิสันเป็นผู้ก่อตั้งได้ซื้อลิขสิทธิ์ระบบไฟฟ้ากระแสสลับของเทสลาต่อจากเวสติงเฮาส์ แล้วเปลี่ยนมาทำระบบไฟฟ้ากระแสสลับ ทำให้บริษัทของเอดิสันกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในกิจการด้านไฟฟ้าของโลก การพัฒนาระบบไฟฟ้ากระแสสลับของเทสลาได้สร้างความมั่งคั่งให้กับเอดิสันอย่างมาก

 
สุดยอดนักประดิษฐ์ของโลก

thomas-edison-7

ปี 1891 เขาประดิษฐ์เครื่องบันทึกภาพเคลื่อนไหวสำเร็จซึ่งนำไปสู่การสร้างภาพยนตร์ อีก 2 ปีต่อมาเอดิสันได้สร้างโรงถ่ายภาพยนตร์แห่งแรกของโลก ต่อมาเขาได้นำเครื่องบันทึกภาพเคลื่อนไหวมารวมกับเครื่องบันทึกเสียงซึ่งเขาเป็นคนประดิษฐ์เองกลายเป็นเครื่องถ่ายทำภาพยนตร์​ ปี 1898 เอดิสันเริ่มประดิษฐ์แบตเตอรี่ที่ทำจากนิกเกิลและเหล็กและทำสำเร็จในปี 1909 ใช้เวลานานถึง 11 ปี

นอกจากนี้เอดิสันยังมีผลงานสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีอีกมาก เช่น เครื่องเล่นจานเสียง เครื่องขยายเสียง​ เครื่องอัดสำเนา และสิ่งประดิษฐ์อื่นๆอีกนับพันชิ้น เอดิสันเป็นนักประดิษฐ์ที่มีผลงานมากที่สุดในยุคนั้น เขามีสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ภายใต้ชื่อของเขาเป็นจำนวนถึง 1,093 ชิ้น แม้ส่วนใหญ่เขาไม่ได้เริ่มคิดค้นขึ้นมาเอง แต่เป็นการพัฒนาจากสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นโดยลูกจ้างของเขา เพราะเหตุนี้ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการอ้างผลงานเป็นของตัวเองแต่ผู้เดียวอยู่เสมอ

จากผลงานการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้เทคโนโลยีอย่างมากมายเหลือเชื่อ เอดิสันจึงได้รับยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะในด้านนี้ แต่ตัวเขาเองกลับบอกว่าความสำเร็จของเขามาจากความพยายามมากกว่า วาทะเด็ดของเขาอย่างเช่น “อัจฉริยะเกิดจากแรงบันดาลใจเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ และอีก 99 เปอร์เซ็นต์คือความอุตสาหะ” หรือ “ผมไม่ได้ล้มเหลวนะ ผมเพิ่งจะพบ 10,000 วิธีที่มันใช้ไม่ได้” เป็นสิ่ง​ยืนยันได้เป็นอย่างดี

เอดิสันแต่งงานกับ Mary Stilwell ในปี 1871 มีลูกด้วยกัน 3 คน Mary เสียชีวิตตอนอายุยังน้อยด้วยโรคมะเร็งในสมองในปี 1884 ต่อมาในปี 1886 เอดิสันแต่งงานใหม่กับ Mina Miller มีลูก 3 คนเช่นกัน เอดิสันเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานในปี 1931 อายุรวม 84 ปี ส่วน Mina เสียชีวิตในปี 1947

เอดิสันเป็นตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จด้วยความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร เขาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ นิตยสารไลฟ์ได้ยกย่องให้เอดิสันเป็นหนึ่งใน “100 คนที่สำคัญที่สุดในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา” เขาคือสุดยอดนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกตลอดกาล

thomas-edison-8

 
 
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, biography, siweb.dss.go.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *