แต่ปัญหาก็คือในการผลิตควอนตัมดอทมีต้นทุนสูง ใช้กระบวนการที่ซับซ้อน และผลที่ได้อาจเป็นพิษ ดังนั้นทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยสวอนซีจึงร่วมกับทีมนักวิจัยจากประเทศอินเดียสร้างควอนตัมดอทขึ้นจากใบชาธรรมดา
นักวิจัยผสมสารสกัดจากใบชากับแคดเมียมซัลเฟต (CdSO4) และโซเดียมซัลไฟด์ (Na2S) จากนั้นทำการบ่มส่วนผสมจนกระทั่งเกิดควอนตัมดอท ทีมวิจัยนำควอนตัมดอทที่ได้ไปสัมผัสกับเซลล์มะเร็งปอดเพื่อทดสอบว่าการเรืองแสงของมันช่วยในการหาตำแหน่งมะเร็งได้ดีแค่ไหน
“งานวิจัยของเรายืนยันว่าสารสกัดจากใบชาใช้ทำควอนตัมดอทได้โดยไม่เป็นพิษ” Sudhagar Pitchaimuthu หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว “ควอนตัมดอท CdS ที่ทำด้วยสารสกัดจากใบชามีการเรืองแสงในเซลล์มะเร็งที่ดีใช้ได้เมื่อเทียบกับควอนตัมดอทแบบเดิม”
แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับนักวิจัยอย่างมากคือควอนตัมดอทจากใบชาไม่เพียงแต่แสดงตำแหน่งเนื้องอกเท่านั้น มันยังช่วยในการทำลายเซลล์มะเร็งด้วย นักวิจัยสังเกตพบว่าควอนตัมดอทแทรกซึมเข้าไปในเซลล์มะเร็งและฆ่าพวกมันได้มากถึง 80%
“มันน่าแปลกใจจริงๆที่ควอนตัมดอทจากใบชาสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี” Pitchaimuthu กล่าว “เราไม่คาดหวังในสิ่งนี้มาก่อน ควอนตัมดอทกลายเป็นเส้นทางแห่งความหวังใหม่ในการพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็ง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างอื่นได้อีก เช่น ใช้ในสีป้องกันจุลินทรีย์ที่ใช้ในโรงหนัง หรือในครีมกันแดด”
ในอนาคตทีมวิจัยมีแผนที่จะเพิ่มขนาดเทคนิคในการผลิตและศึกษาต่อไปว่าจะสามารถนำควอนตัมดอทจากใบชาไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีกบ้าง
“ขั้นตอนต่อไปคือการขยายการดำเนินการของเรา และหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ” Pitchaimuthu กล่าว “เราต้องการสำรวจความสามารถของสารสกัดจากใบชาในการตรวจหาเซลล์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างควอนตัมดอทกับเซลล์มะเร็ง เราอยากสร้าง ‘โรงงานควอนตัมดอท’ ซึ่งสามารถช่วยให้เราค้นคว้าได้อย่างเต็มที่ว่ามันสามารถใช้ทำอะไรได้บ้าง”
ข้อมูลและภาพจาก swansea.ac.uk, newatlas