นักวิจัยพบหลักฐานว่า Great Barrier Reef เกิดเหตุการณ์ “ตาย” มาแล้ว 5 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล สองครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 30,000 ปีและ 22,000 ปีมาแล้ว จากปัญหาระดับน้ำทะเลลดลงอย่างมาก ระดับต่ำสุดต่ำกว่าระดับปัจจุบันถึง 118 เมตร ซึ่งทำให้แนวปะการังต้องสัมผัสกับอากาศตลอดเวลา
เมื่อยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลง การละลายของธารน้ำแข็งทำให้ระดับน้ำทะเลสูงเพิ่มขึ้นอีกครั้ง อันเป็นผลให้ Great Barrier Reef ตายอีก 2 ครั้งในราว 17,000 ปี และ 13,000 ปีก่อน เนื่องจากแนวปะการังจมน้ำลึกเกินกว่าจะได้รับแสงอาทิตย์
การตายครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อราว 10,000 ปีที่แล้ว แต่ไม่ได้มาจากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล ทีมวิจัยพบว่าการตายอาจจะเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของตะกอนซึ่งทำให้คุณภาพน้ำลดลง
การที่แนวปะการังยังคงอยู่รอดผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาได้แสดงให้เห็นว่ามันมีการปรับตัวและฟื้นคืนสภาพในการเผชิญกับอันตรายมากกว่าที่คิดไว้ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะปะการังแผ่ขยายออกไปด้วยอัตรา 0.2 ถึง 1.5 เมตรต่อปี นั่นหมายถึงว่ามันสามารถอพยพไปอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยตามระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ระดับน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งใช้เวลานับพันปี แต่ละปีจึงมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ปะการังสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ทัน
แต่สำหรับวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดกับ Great Barrier Reef ในปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างในอดีต เพราะมันกำลังถูกทำลายด้วยอัตราที่รวดเร็วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รายงานฉบับล่าสุดสรุปว่าอิทธิพลของมนุษย์ได้ทำลายปะการังลงไปครึ่งหนึ่งระหว่างปี 1985 และ 2012
“ผมมีความกังวลอย่างมากว่าแนวปะการังจะสามารถอยู่รอดจากปัญหาหลายอย่างที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้ได้หรือไม่” Jody Webster หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์กล่าว “การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าแนวปะการังมีความอ่อนไหวต่อตะกอนเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล ดังนั้นเราจำเป็นต้องเข้าใจให้ได้ว่าอุตสาหกรรมหลักส่งผลกระทบต่อแนวปะการังในประเด็นการเพิ่มตะกอนและการลดคุณภาพของน้ำอย่างไร”
ข้อมูลจาก sydney.edu.au, newatlas