“เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนตัวห่างออกไป โลกก็เหมือนกับนักฟิกเกอร์สเก็ตที่หมุนตัวช้าลงขณะที่ยืดแขนออก” Stephen Meyers นักธรณีศาสตร์หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
ทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า astrochronology ซึ่งเป็นวิธีทางสถิติที่เชื่อมโยงบันทึกทางธรณีวิทยากับทฤษฎีทางดาราศาสตร์ทำการสร้างประวัติศาสตร์เก่าแก่ของโลกและระบบสุริยะขึ้นมาใหม่ และยังได้ใช้วัฏจักรมิลานโควิทช์ (Milankovitch Cycle) เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกจาก 3 ปัจจัยหลักอันได้แก่การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์, การเอียงของแกนโลก และการส่ายของแกนหมุนของโลกเข้ามาร่วมวิเคราะห์ด้วย
หนึ่งในวิธีที่ทำให้ทีมวิจัยสามารถคำนวณการหมุนรอบตัวเองของโลกเมื่อกว่าหนึ่งพันล้านปีก่อนได้คือการวิเคราะห์ตะกอนในหินอายุ 90 ล้านปีทำให้พวกเขาได้ข้อมูลเกี่ยวกับวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก
ขณะที่ในปัจจุบันดวงจันทร์กำลังเคลื่อนตัวออกห่างจากโลกด้วยอัตรา 3.82 เซ็นติเมตรต่อปี หากเราคำนวณย้อนกลับไปด้วยอัตราเดียวกันนี้ เมื่อ 1,400 ล้านปีก่อนดวงจันทร์จะอยู่ใกล้โลกมากพอที่แรงดึงดูดของโลกอาจทำให้มันถูกฉีกขาดได้เลย
ทีมวิจัยได้พัฒนาระบบสำหรับใช้ในการคำนวณระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์และการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลกในอดีตได้อย่างแม่นยำ แม้กระทั่งเวลาในหนึ่งวันบนโลกเมื่อ1,400 ล้านปีก่อน
ผลงานของพวกเขาสอดคล้องกับผลวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ที่พบว่าหนึ่งวันบนโลกกำลังเพิ่มนานขึ้นราว 0.000018 วินาทีต่อปี และในอนาคตพวกเขาจะใช้เทคนิคเดียวกันนี้ส่องดูวิวัฒนาการของระบบสุริยะย้อนหลังไปเมื่อหลายพันล้านปีก่อน
“บันทึกทางธรณีวิทยาเปรียบเสมือนหอดูดาวสำหรับระบบสุริยะในช่วงต้น” Meyers กล่าว “เรากำลังมองดูสิ่งที่เก็บรักษาไว้ในหินและประวัติความเป็นมาของสิ่งมีชีวิต”
ข้อมูลและภาพจาก independent.co.uk, sciencealert