“ฉันมองหารังสีที่ปลดปล่อยออกมาจากอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กที่ส่องสว่างอย่างต่อเนื่อง แต่ฉันกลับพบการแผ่รังสีที่สว่างมากขึ้นแล้วค่อยๆเลือนหายไป วูบวาบไปตามความยาวคลื่น ซึ่งในทางดาราศาสตร์มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก” Greaves ผู้เป็นหัวหน้าทีมวิจัยกล่าว
สิ่งที่เธอพบก็คือส่วนหนึ่งของการแผ่รังสีไมโครเวฟที่ผิดปกติ (Anomalous Microwave Emissions – AME) ซึ่งเป็นที่สงสัยถึงแหล่งกำเนิดที่แท้จริงมานานปี ทีมวิจัยได้ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่หอดูดาว Green Bank และกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Australia Telescope Compact Array ในออสเตรเลียส่องหาแสง AME นี้ในระบบดาวฤกษ์เกิดใหม่จำนวน 14 แห่งทั่วกาแล็กซี่ทางช้างเผือก พวกเขาได้พบกับแสง AME ในระบบดาวฤกษ์เกิดใหม่ 3 แห่ง และมันมาจากฝุ่นและแก๊สในจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดที่กำลังหมุนวนอยู่รอบดาวฤกษ์
“นี่เป็นการตรวจจับการแผ่รังสีไมโครเวฟที่ผิดปกติหรือ AME ที่มาจากจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดได้เป็นครั้งแรก” David Frayer นักดาราศาสตร์ที่หอดูดาว Green Bank หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้ตรวจพบแสงอินฟราเรดเฉพาะอันเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ฝุ่นเพชร’ หรือผลึกคาร์บอนขนาดเล็กมากระดับนาโนซึ่งเล็กกว่าเม็ดทรายมาก โดยพบในระบบดาวฤกษ์ทั้ง 3 แห่งนี้เท่านั้นไม่พบที่อื่น
“มันเป็นสิ่งที่พบได้ยากมาก ไม่มีดาวฤกษ์เกิดใหม่ดวงอื่นอีกที่มีการปล่อยรังสีแบบนี้” Greaves กล่าว “โดยใช้วิธีแบบเชอร์ล็อก โฮมส์คือตัดสาเหตุอื่นออกทั้งหมด เราสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่าแหล่งที่ผลิตคลื่นไมโครเวฟเรืองแสงคือฝุ่นเพชรที่อยู่รอบๆดาวฤกษ์เกิดใหม่พวกนี้นั่นเอง”
ผลการวิจัยนี้อาจช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจเอกภพได้มากขึ้นกว่าเดิมโดยเฉพาะในช่วงแรกเริ่ม รวมทั้งอาจทำให้นักดาราศาสตร์สามารถสร้างแบบจำลองของแสงไมโครเวฟที่มาจากกาแล็กซี่ของเราได้ดีกว่าเดิม และอาจช่วยในการศึกษาวิจัยย้อนไปถึงการระเบิดครั้งใหญ่หรือ Big Bang ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเอกภพ
ข้อมูลและภาพจาก space, popsci